วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประวัติมวย

ประวัติความเป็นมาของมวยไทยมวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยเช่นเดียวกับกังฟูของจีน ยูโดและคาราเต้ของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลี


การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย  

ได้แก่

๑) สมัยอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมากจนทรงปลอมพระองค์มาชกมวยกับชาวบ้าน และชนะคู่ต่อสู้ถึง ๓ คน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นสามัญชน มาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์

เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยไทยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี หรือมีความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆ ก็เกิดจากการฝึกฝนกับพระสงฆ์ในวัดแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น


การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

๒) นักมวยที่มีฝีมือดีมีโอกาสเข้ารับราชการให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะการเป็นทหารในส่วนราชการที่เรียกว่า ทนายเลือก ซึ่งเป็นกรมที่ดูแลนักมวย ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์

๓) เมื่อครั้งที่นายขนมต้มถูกจับเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ ในการทำสงครามกับไทย และสุกี้พระนายกองได้คัดเลือกนายขนมต้มให้ขึ้นชกกับนักมวยพม่า นายขนมต้มสามารถชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง ๑๐ คน ดังที่ รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า "พม่าแพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว" แสดงให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ  


การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒

๔) ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก และอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย  

สนามมวยราชดำเนิน
สนามมวยราชดำเนิน

การพัฒนามวยไทยเป็นการกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว

หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๖ มวยไทยได้พัฒนามากขึ้นโดยมีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย และมีนักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียง คหบดีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เจ้าเชตุ ได้ตั้งสนามมวยในที่ดินของตนเอง เพื่อนำรายได้จากการชกมวยไปบำรุงกิจการทหาร ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแข่งขันชกมวยจึงหยุดไป หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง การแข่งขันชกมวยไทยได้เฟื่องฟูขึ้นอีก เพราะประชาชนสนใจ 

สนามมวยลุมพินี
สนามมวยลุมพินี

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้มีการจัดตั้งสนามมวยราชดำเนินขึ้น และจัดการแข่งขันชกมวยอาชีพเป็นจำนวนมาก มีนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น สุข ปราสาทหินพิมาย ผล พระประแดง สมาน ดิลกวิลาศ ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ เป็งสูน เทียมกำแหง สุริยา ลูกทุ่ง การชกมวยในระยะนั้น มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการชกมวยข้ามรุ่นกันได้

ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดแข่งขันชกมวย
ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดแข่งขันชกมวย

วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ สนามมวยลุมพินีได้เปิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นักมวยส่วนใหญ่จึงได้ใช้ทั้งเวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินีในการแข่งขันชกมวย โดยทั้งสองสนามนี้ถือว่า เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย มีการจัดแบ่งประเภทนักมวยเป็นรุ่นต่างๆ ตามน้ำหนักตัวที่กำหนดขึ้น เกิดกติกามวยไทยอาชีพ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๐ ของกรมพลศึกษา และในวันเสาร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีการถ่ายทอดการชกมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนินเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกมวยไทย และมีการจัดแข่งขันชกมวยกับนักมวยไทยอยู่เสมอๆ

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก
วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก

ต่อมากีฬามวยไทยมีการพัฒนาจนก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้การชกมวยไทยต้องมีเครื่องป้องกันอันตราย เพื่อให้นักมวยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในแต่ละปี และมีการถ่ายทอดการชกมวยทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจมวยขยายตัวออกไปกว้างขวาง ในต่างจังหวัดมีเวทีมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักมวยที่มีฝีมือจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การชกมวยไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเพื่อผลแพ้ชนะและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ศิลปะและแก่นแท้ของมวยไทย นับวันจะเลือนหายไป ถึงแม้จะมีหลักสูตรการเรียนกันในบางสถาบันการศึกษาก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนมวยไทยในระดับบัณฑิตศึกษา คือ วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี เริ่มเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขามวยไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ และต่อมาพัฒนาเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาเอกชื่อว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา (ปัจจุบันมีการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต) มวยไทยจึงเริ่มพัฒนาเข้าสู่วิชาการเรียนการสอน เพื่อการอนุรักษ์ และแสวงหาคุณค่าทางภูมิปัญญาไทยมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน โดยมีคณาจารย์ประจำหลักสูตร เช่น ดร. ศักดิ์ชัย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมสภามวยไทยสมัครเล่นโลก ดร. แสวง วิทยพิทักษ์ กรรมการเทคนิคผู้ตัดสินมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนิน รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร แสงชัย เจ้าตำรับครูมวยพระยาพิชัยดาบหัก รวมไปถึง รองศาสตราจารย์ชัยสวัสดิ์ เทียนวิบูลย์ ครูมวยสยามยุทธ์ นอกจากนี้ยังมี รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี พงศ์พิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาไทย มาช่วยกันสร้างสรรค์จรรโลง ให้องค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีมานานนับสองพันปีอยู่ยั่งยืนตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน

ประวัติบิลเลียด

ประวัติของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย

BSAT History
กีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่เชื่อว่ามีการเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 โดยมีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 16 ในรูปแบบของ อิงลิช บิลเลียด (English Billiards) เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากกีฬาบิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นกันสำหรับสองคน จึงได้มีการคิดค้นกีฬาพูล (Life Pool และ Pyramid Pool) ขึ้นมาเพื่อจะได้เพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้น และนำมาประยุกต์กลายเป็นกีฬาสนุกเกอร์ไปในที่สุด


กีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่คนไทยนิยมเล่นกันมาช้านาน และจากการที่เป็นกีฬาที่ชี้ผลแพ้-ชนะได้ จึงมีการเล่นพนันขันต่อ และจากเหตุที่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทยโดยกรมตำรวจจึงจัดเอาบิลเลียด-สนุกเกอร์ไว้ในพระราชบัญญัติการพนันประเภท ข. ตั้งแต่ปี 2478 และเป็นกฏหมายที่ใช้ควบคุมมาจนถึงปัจจุบัน


ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สมาคมพ่อค้าไทย มีวิเชียร แสงทอง หรือ เซียน กิ๊ด นครสวรรค์เป็นแชมป์ประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2513 จากนั้นสนุกเกอร์ก็เงียบหายไปจนถึงปี พ.ศ. 2525 โดยชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานจนถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สอง ชื่อ นายมอริส เคอร์ อดีตกรรมการบริหารราชกรีฑาสโมสร ได้รื้อฟื้นให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง

 ภายในบริเวณราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) การแข่งขันในปีแรก มีผู้ลงสมัครแข่งขันไม่ถึง 20 คน ปรากฏว่า มีเซียนรุ่นเก่าหันมาสวมเวสต์ เสื้อแขนยาวลงแข่งขันแบบ 15 ลูก ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้ในปีแรกก็ยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากนักกีฬาไม่คุ้นต่อกฏกติกานั่นเอง


และในปี พ.ศ. 2525 นั้นเอง สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยนายมอริส เคอร์ มีคณะกรรมการบริหารรุ่นบุกเบิกเพียง 7 คน ประกอบด้วย นายมอริส เคอร์ นายโอภาส เลิศพฤกษ์ นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ นายศักดา รัตนสุบรรณ พล.ต.ต.ณรงค์ เหรียญทอง และนายเถกิง สวาสดิพันธุ์


เมื่อมีคณะกรรมการบริหารชุดแรกแล้ว สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยก็ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ มีการชักชวนประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนเข้ามาเป็นสมาชิก แล้วให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นปีต่อมา ที่ประเทศสิงคโปร์ มีประเทศสมาชิกร่วมแข่งขัน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ บรูไน ปรากฏว่า นักสนุกเกอร์จากไทยเข้าชิงชนะเลิศกันเอง โดยวิเชียร แสงทอง หรือ เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ เอาชนะ ตา ตันยุติธรรมไปได้ และทำเบรคสูงสุดถึง 143 คะแนน


ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 นายมอริส เคอร์ ก็ได้ก่อตั้งสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเซียขึ้นมา มีประทศสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ได้แก่ประเทศไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน คูเวต และซาอุดิอารเบีย โดยมีนายมอริส เคอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเซียเป็นคนแรก กำหนดให้มีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงชนะเลิศแห่งเอเซียอย่างต่อเนื่อง และได้มีการรวมกีฬาบิลเลียด พูล แครอมเข้าไปเป็นกีฬาบิลเลียด และเปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเซีย มาจนถึงปัจจุบัน


หลังจากที่สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยได้มีการก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว 

สมาคมฯได้มีความพยายามในการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศ จนกระทั่งได้เพชรเม็ดงามคือ นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งทำให้ชาวโลกรู้จักประเทศไทยดีขึ้น เพราะต๋องสามารถครองแชมป์เอเซียได้ถึง 2 ครั้งในสมัยนั้น โดยครั้งแรกทำได้เมื่ออายุเพียง 14 ปี และยังสามารถคว้าแชมป์สมัครเล่นโลก ในปี พ.ศ. 2531 โดยเอาชนะ แบรี่ พินช์เชส นักกีฬาต้นตำรับและแชมป์สมัครเล่นจากอังกฤษก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นอันดับสามของโลก โดยเป็นรองเพียงสตีเฟ่น เฮนดรี้ และ สตีฟ เดวิส เท่านั้น


เป็นที่น่าเสียดายว่า คุณมอริส เคอร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมได้มาด่วนจากไปเสียก่อนในปี พ.ศ.2531 จึงไม่มีโอกาสได้เห็น ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นแชมป์สมัครเล่นโลกสมดังความปรารถนา แต่อย่างไรก็ตาม คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ผู้รับช่วงบริหารสมาคมฯต่อมา ก็ได้เดินหน้าพัฒนาบริหารสมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน


หลังจากที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย คว้าแชมป์สมัครเล่นโลกคนแรกได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ในปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยก็ได้แชมป์สมัครเล่นโลกคนที่สอง โดยนพดล นภจร หรือ หนู ดาวดีงส์ สามารถเอาชนะ โดนินิค เดล คู่แข่งจากเวลส์ได้ ที่โรงแรมแม่น้ำ กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้ชมทั้งในห้องแข่งขัน และที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ


สองปีต่อมา ประเทศไทยก็แสดงผลงานสู่วงการสนุกเกอร์โลกอีกครั้ง เมื่อชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ หรือ ต่าย พิจิตร เข้าชิงชนะเลิศกันเองกับ ประพฤติ ชัยธนสกุล หรือ รมย์ สุรินทร์ ในการชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่การาจี ประเทศปากีสถาน และเอาชนะไปได้ 11 - 6 เฟรม คว้าแชมป์โลกคนที่สามให้ประเทศไทยไปได้สำเร็จ


ผลงานในเวทีโลกของนักสนุกเกอร์ไทย ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น นักกีฬาไทยยังมีผลงานคว้าแชมป์เอเซีย และแชมป์โลกสมัครเล่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแชมป์โลกแล้วในเวลานี้ถึง 7 คน ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์ชัย ซิมงาม ในปี พ.ศ. 2538, อรรถสิทธิ์ มหิทธิ ในปี พ.ศ. 2550 โดยชิงชนะเลิศกันเองกับ ภาสกร สุวรรณวัฒน์เทพไชยา อุ่นหนู ในปี พ.ศ. 2551 และ เดชาวัต พุ่มแจ้ง ในปี พ.ศ. 2554


ในสายเยาวชน นักกีฬาไทยก็สามารถคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ถึง 2 ครั้ง โดย นพพล แสงคำ ทำได้เป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอิหร่าน และในปี 2554 ก็สามารถเข้าชิงชนะเลศได้อีกครั้ง แต่ไปแพ้นักกีฬาไทย เพื่อนร่วมชาติ ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ ในรอบชิงชนะเลิศที่แคนาดา ทำให้ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ได้เป็นแชมป์เยาวชนโลกของไทยคนที่สอง ได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ฤดูกาลนี้เป็นต้นไป


ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังได้มีการผลักดันให้มีการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์นักเรียน ชิงแชมป์ประเทศไทย โดยร่วมมือกับกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์นักเรียนชิงแชมป์ภาคจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วมาแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย เพื่อให้สนุกเกอร์มีการพัฒนาให้หัดเล่นตั้งแต่ระดับเยาวชนอย่างถูกวิธี


กีฬาสนุกเกอร์ในเอเซีย ภายใต้การบริหารของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ ยังได้ผลักดันให้มีการบรรจุกีฬาสนุกเกอร์ ในการแข่งขัน Multi Sports เป็นครั้งแรก ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2541 โดยมีการชิงชัยกันถึง 10 เหรียญทอง ทั้งสนุกเกอร์ บิลเลียด พูล และแครอม และได้มีการบรรจุการแข่งขันกีฬาบิลเลียดในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อย่างต่อเนื่องทุกครั้ง มาจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งล่าสุด ที่กรุงกวางเจา ประเทศจีน


ไม่เพียงแต่ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์เท่านั้น ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, อีสต์ เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ หรือ การแข่งขัน เวิลด์ เกมส์ ก็ได้มีการบรรจุกีฬาบิลเลียดลงในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาทั้งหมด ภายใต้การผลักดันของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ ในฐานะประธานสหพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเซีย


และเนื่องด้วยกีฬาสนุกเกอร์ เป็นเพียงหนึ่งในกีฬาคิวสปอร์ต ซึ่งมีทั้ง อิงลิช บิลเลียด พูล และแครอม สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อสมาคมฯ เป็น สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 25..


ในปีพ.ศ. 2550 สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ได้มีการนำกีฬาสนุกเกอร์ 6 แดงบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมาเป็นครั้งแรก และทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง แพร่กระจายไปสู่ความนิยมทั้งในเอเซีย และทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ได้มีการจัดการแข่งขัน แสงโสม 6 แดง อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยเชิญนักกีฬาอาชีพของสนุกเกอร์โลกมาร่วมแข่งขัน พร้อมกับนักสนุกเกอร์ต่าง ๆ จากทั่วโลกขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มีการจัดการแข่งขันในปีต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยว่างเว้นไปเพียงปีเดียว ในปี 2554 ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีม ในรายการ World Cup แทน ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง เป็นที่นิยมไปอย่างแพร่หลาย ได้มีการจัดการแข่งขัน 6 แดงชิงแชมป์เอเซีย ชิงแชมป์ภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเอาผู้ชนะมาแข่งขัน แสงโสม 6 แดงชิงแชมป์โลก ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจมาร์เกตติ้ง จำกัด อย่างต่อเนื่องด้วย


สรุปแล้ว พัฒนาการของวงการสนุกเกอร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ และคณะกรรมการบริหารฯ ทุกท่านที่ร่วมแรง ร่วมกำลัง ร่วมความคิด ในการนำกีฬาบิลเลียดและนักกีฬาของไทยเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความสำเร็จส่วนต่อไปที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย กำลังพยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้คือให้กีฬาสนุกเกอร์หลุดจากพระราชบัญญัติการพนัน ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ขัดต่อระบบการดำเนินการ การพัฒนาเยาวชน และไม่สอดคล้องกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทยระบุไว้อย่างชัดเจนให้สนุกเกอร์และบิลเลียดเป็น 1 ใน 40 ชนิดกีฬาที่การกีฬาแห่งประเทศไทยให้การรับรอง โดยออกเป็นพระราชบัญญัติไว้ในปี พ.ศ. 2538 และเป็น 1 ใน 12 กีฬาอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยอีกด้วย ส่วนการที่กีฬาสนุกเกอร์จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้หรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องช่วยกันป้องกันและทำให้กีฬาเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับ และผู้ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ก็คือผู้บริหารสโมสรโต๊ะสนุกเกอร์ต่าง ๆ ผู้เล่น ตลอดจนผู้ฝึกสอน หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า สนุกเกอร์จะเป็นกีฬาที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยทั่วกัน

ขอบคุณข้อมูลดีๆ: thailandsnooker

ประวัติกอล์ฟ


ประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟ

THE HISTORY OF GOLF
       กีฬากอล์ฟเกิดขึ้นมายาวนานมาก แต่จะหาหลักฐานว่ากอล์ฟเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด ใครเป็นผู้ริเริ่มการเล่น ยังหาหลักฐานที่แน่ชัดไม่ได้ จะมีหลักฐานเป็นรูปวาดหรืองานศิลปะที่มีการเล่นกีฬาคล้ายกอล์ฟอยู่มากมายหลายประเทศ แต่ก็ยังหาข้อสรุปหรือความชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬากอล์ฟหรือไม่

      อย่างย้อนหลังไปสองพันปี สมัยชาวโรมัน ก็มีหลักฐานเป็นภาพวาดและภาพปูนปั้น ที่ชาวโรมันเล่นเกมส์ที่ใช้ไม้ปลายโค้งงอตีลูกกลมๆ โดยเรียกเกมส์นี้ว่า “ Paganica”

      ที่ประเทศฮอลแลนด์ในช่วงศตวรรษที่13 ก็มีการเล่นกีฬาคล้ายกอล์ฟเรียกกันว่า “KOLF” ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินเรือ และลูกกอล์ฟขนนก “Feathery” ก็ผลิตในฮอลแลนด์และส่งไปขายยังสก็อตแลนด์เป็นจำนวนมากในช่วงศควรรษที่ 16 ก็เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ากีฬากอล์ฟเกิดที่ประเทศฮอลแลนด์ได้เช่นเดียวกัน

        หรือแม้แต่ประเทศในทวีปเอเชีย อย่างประเทศญี่ปุ่น ก็พบรูปวาดโบราณที่แสดงให้เห็นว่าหญิงโสเภณีชั้นสูงของญี่ปุ่น เล่นกีฬาชนิดหนึ่ง โดยใช้ไม้ปลายงอตีลูกกลมๆคล้ายกับการเล่นกอล์ฟเช่นกัน

        ล่าสุดในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 มีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของกอล์ฟ ค้นพบโดยศาสตราจารย์ Ling Hongling จากมหาวิทยาลัยหลานโจ่ว ซึ่งชวนให้เชื่อได้ว่า มีกีฬาซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับกอล์ฟในปัจจุบันในประเทศจีน ตั้งแต่ห้าร้อยปีก่อนการกล่าวถึงกอล์ฟในสกอตแลนด์ บันทึกจากสมัยราชวงศ์ซ่ง มีการกล่าวถึงเกมส์ฉุยหวาน และมีภาพวาดด้วย เกมนี้มีการใช้ไม้สิบชนิด ซึ่งรวมถึงไม้ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไดรเวอร์ หัวไม้สอง และหัวไม้สามด้วย ไม้ต่างๆมีการประดับด้วยหยกและทอง ทำให้เชื่อว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้มีฐานะร่ำรวย ศาสตราจารย์หลิงเชื่อว่ากีฬากอล์ฟถูกนำเข้าสู่ยุโรป และต่อมาสกอต์แลนด์โดยนักเดินทางชาวมองโกลในช่วงปลายยุคกลาง ซึ่งก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก
        แต่ที่สก็อตแลนด์ถูกกล่าวถึงว่าเป็นต้นกำเนิดของกีฬากอล์ฟ ก็เพราะคนสก็อตแลนด์นิยมเล่นกอล์ฟกันมากเล่นกันมานานและมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน เช่น

        ในปี ค.ศ.1457 โดยกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ได้มีกฏหมายออกมาว่าห้ามมิให้ผู้ใดเล่นกีฬากอล์ฟอีกต่อไป อันเนื่องมาจากชาวสก็อตแลนด์เฝ้าแต่เล่นกอล์ฟกันจนไม่มีเวลาทำการซ้อมรบ ซึ่งจะเป็นอันตรายกับประเทศชาติ แต่ในที่สุดกฏหมายนี้ก็ต้องยกเลิกไป เพราะพวกขุนนางหรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังแอบเล่นกีฬากอล์ฟกันอยู่ ในสมัยของกษัตริย์เจมส์ที่ 4 หรือประมาณ 50 ปี หลังจากออกกฎหมายการห้ามเล่นกีฬากอล์ฟ
        หรือหลักฐานจากพระนาง Mary Queen of Scott ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เจมส์ที่ 5 ทรงเล่นกอล์ฟและให้นักเรียนนายร้อย (Cadet) เป็นผู้แบกถุงกอล์ฟให้ ซึ่งต่อมาอาจเป็นคำเริ่มต้นที่ใช้เรียกคนแบกถุงกอล์ฟว่า แค๊ดดี้ (Caddie) ก็เป็นได้ในปัจจุบัน
        สนามกอล์ฟในเมือง Leith ถือเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของสก๊อตแลนด์ ที่มีรูปแบบการเล่นเป็นมาตรฐาน เช่นในปัจจุบัน โดยมีอยู่ด้วยกัน 5 หลุม และยังมีสนามกอล์ฟเกิดขึ้นมากมายในกลางศตวรรษที่ 16 เช่น St.Andrews, Perth, Montrose, Dornoch, Banff, North Inch และ Aberdeen
สนามกอล์ฟ The Royal Blackheath Golf Club คือ สนามกอล์ฟแห่งแรกของประเทศอังกฤษ
       กีฬากอล์ฟในสก๊อตแลนด์ เริ่มมีการอิ่มตัว และมีเหตุการณ์ในทางการเมือง ทำให้กีฬากอล์ฟถูกลดความสนใจลงไป และหยุดการพัฒนาลงไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19
      แต่หลังจากการเมืองสงบลง กีฬากอล์ฟก็กลับมาเป็นที่นิยมดังเดิม ในปีคศ. 1850 กีฬากอล์ฟเริ่มแพร่หลาย เข้าสู่เมืองอาณานิคมอังกฤษ และเริ่มเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา

      อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กีฬากอล์ฟได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ก็เพราะอุปกรณ์การเล่นมีราคาถูกลง มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมทั้งไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกมากยิ่งขึ้นทั้งทางรถไฟและทางเรือ
          จากนั้นเป็นต้นมา กีฬากอล์ฟก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้มีจำนวนนักกอล์ฟนับร้อยล้านคนทั่วโลก สนามกอล์ฟก็มีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของนักกอล์ฟ และอาชีพนักกอล์ฟอาชีพซึ่งสามารถทำรายได้และชื่อเสียงให้กับตัวของนักกอล์ฟเอง จนเป็นเป้าหมายให้กับนักกอล์ฟรุ่นใหม่ๆจำนวนมาก ที่พยายามขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดนั้นให้ได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมของกีฬากอล์ฟก็เติบโตอย่างรวดเร็ว มีเม็ดเงินมหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในโลกของกีฬากอล์ฟ อีกทั้งกีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่มีความท้าทายสูง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จนอาจจะกล่าวได้ว่ากีฬากอล์ฟเป็น

“ GAME OF THE WORLD”
ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟ
ค.ศ. 1457 กษัตริย์เจมส์ที่ 2 แห่งสก็อตแลนด์ ออกกฏหมายห้ามมิให้มีการเล่นกอล์ฟ เพราะเหล่าขุนนางและทหารไม่สนใจในการฝึกซ้อมการรบฝึกทหารมัวแต่ไปเล่นกอล์ฟกัน

ค.ศ. 1491 กษัตริย์เจมส์ที่ 4 ก็ยังทรงตอกย้ำถึงกฏหมายการเล่นกอล์ฟ แต่ภายหลังก็ต้องมีการยกเลิกกฏหมายนี้ เพราะพระองค์เองก็ยังทรงแอบเล่นกีฬากอล์ฟเสียเองจนเป็นที่กล่าวขานกันของประชาชน

ค.ศ. 1735 มีการก่อตั้งสโมสร(club) เป็นครั้งแรกชื่อ The Royal Burgess Society Of Edinburgh
ค.ศ. 1744 สโมสร The Honoureble Company Of Edinburgh Golfers จัดให้มีการแข่งขันกอล์ฟขึ้น โดยผู้ชนะจะได้ไม้กอล์ฟที่ทำจากเงินซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันที่เป็นทางการครั้งแรกในโลก
ค.ศ. 1754 สโมสร The Royal And Ancient Golf Club ได้สร้างกฏกติกาของการเล่นกอล์ฟขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเริ่มต้นมีข้อกำหนดไว้ 13 ข้อ ซึ่งยังยึดถือเป็นแบบอย่างของกติกากอล์ฟในปัจจุบัน
ค.ศ. 1764 สนามเซ็นท์แอนดรูว์ส ถูกปรับปรุงและลดจาก 22 หลุม เป็น 18 หลุม และถือเป็นแบบอย่างของสนามกอล์ฟในปัจจุบันที่มีทั้งหมด 18 หลุม
ค.ศ. 1829 สนามรอยัล กัลกัตต้า กอล์ฟคลับในประเทศอินเดีย เป็นสโมสรที่อยู่นอกเกาะอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดและยังเปิดดำเนินการอยู่ (Royal Calcutta Golf Club)
ค.ศ. 1860 เริ่มมีการแข่งขัน บริทิชโอเพ่น เป็นครั้งแรกโดยมีนักกอล์ฟอาชีพร่วมแข่งขัน 8 คน แชมป์ตกเป็นของ วิลลี่ พาร์ค
ค.ศ. 1881 Robert Lockhart ชาวสก็อตแลนด์อพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกา โดยซื้อไม้กอล์ฟไป 6 ชิ้น และลูกกอล์ฟ 2 โหล จาก Tom Moris ในสนาม St. Andrews และได้ลองตีไม้กอล์ฟครั้งแรกใกล้กับ Hudson River เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ได้ตีกอล์ฟบนแผ่นดินอเมริกา ซึ่งอันที่จริงแล้วกีฬากอล์ฟได้เข้าสู่แผ่นดินอเมริกาก่อนหน้านี้ประมาณ 100 ปี มาแล้วแต่ไม่ได้มีการจดเป็นบันทึกหลักฐานที่แน่นอน
ค.ศ. 1888 สโมสร St. Andrews Golf Club ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกและถือเป็นสโมสรกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา จัดขึ้นโดย Johe Reid ซึ่งเป็นเพื่อนของ Robert Lockhart เพื่อเป็นการระลึกถึงสนาม St. Andrews ในสก็อตแลนด์
ค.ศ. 1894 USGA ( The United States Golf Association) ถูกสถาปนาขึ้น โดยการรวมตัวกันของสโมสรกอล์ฟ 5 แห่ง ได้แก่ Newport Golf Club , Shinnecock Hill Golf Club , The Country Club , St.Andrew’s Golf Club (Yonkers,N.Y.) และ Chicago Golf Club โดย USGA เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดกติกากอล์ฟที่ใช้ในหมู่สมาชิก , การคิดคำนวนแต้มต่อของนักกอล์ฟ และ USGA เป็นเจ้าของรายการเมเจอร์ 1 รายการ นั่นก็คือ รายการ U.S. OPEN
และทั้งหมดนี้ก็คือประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟ ที่มีการจดบันทึกข้อมูลจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1900 หลังจากนั้นกีฬากอล์ฟก็มีวิวัฒนาการณ์และเหตุการณ์อีกมากมาย ซึ่งจะนำมานำเสนอในโอกาสหน้าต่อไป

ขอบคุณข้อมูลดีๆ : http://www.golfprojack.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538847686&Ntype=2

ประวัติแบดมินตัน

แบดมินตัน
Carsten Medom Madsen / Shutterstock.com
          กีฬาแบดมินตัน เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬายอดนิยม ที่มีการแข่งขันระดับชาติ และระดับสากล และวันนี้เรามี ประวัติแบดมินตัน กติกาการเล่น มาฝาก 

          แบดมินตัน เป็นกีฬาที่ใช้อุปกรณ์การเล่นน้อยชิ้น เพียงแค่มีไม้แร็คเกต และลูกขนไก่ รวมถึงผู้เล่นเพียง 2 คน ก็สามารถเล่นได้แล้ว อีกทั้ง ยังเป็นกีฬาสบาย ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดผู้คนการเล่นแบดมินตันจึงแพร่หลายไปสู่คนทั่วโลก จนกระทั่งได้กลายเป็นกีฬาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ และวันนี้เราก็มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกีฬาแบดมินตันมาฝากกันค่ะ
แบดมินตัน

ประวัติแบดมินตัน

          แบดมินตัน (Badminton) เป็นกีฬาที่ได้รับการวิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดถึงที่มาของกีฬาประเภทนี้ คงมีแต่หลักฐานบางอย่างที่ทำให้ทราบว่า กีฬาแบดมินตันมีเล่นกันในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ตอนปลายศตวรรษที่ 17 และจากภาพสีน้ำมันหลายภาพได้ยืนยันว่า กีฬาแบดมินตันเล่นกันอย่างแพร่หลายในพระราชวงศ์ของราชสำนักต่าง ๆ ในทวีปยุโรป แม้ว่าจะเรียกกันภายใต้ชื่ออื่นก็ตาม

          โดยกีฬาแบดมินตันได้รับการบันทึกแบบเป็นลายลักษณ์อักษรในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งพบว่า มีการเล่นกีฬาลูกขนไก่เกิดขึ้นที่เมืองปูนา (Poona) ในประเทศอินเดีย เป็นเมืองเล็ก ๆ ห่างจากเมืองบอมเบย์ประมาณ 50 ไมล์ โดยได้รวมการเล่นสองอย่างเข้าด้วยกันคือ การเล่นปูนาของประเทศอินเดีย และการเล่นไม้ตีกับลูกขนไก่ (Battledore Shuttle Cock) ของยุโรป

          ในระยะแรก การเล่นแบดมินตันจะเล่นกันเพียงแต่ในหมู่นายทหารของกองทัพ และสมาชิกชนชั้นสูงของอินเดียเท่านั้น จนกระทั่งมีนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่เมืองปูนา นำการเล่นตีลูกขนไก่นี้กลับไปอังกฤษ และเล่นกันอย่างกว้างขวาง ณ คฤหาสน์แบดมินตัน (Badminton House) ของดยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่กลอสเตอร์เชียร์ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2416 เกมกีฬาตีลูกขนไก่เลยถูกเรียกว่า แบดมินตัน ตามชื่อคฤหาสน์ของดยุคแห่งบิวฟอร์ดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ทั้งนี้ กีฬาแบดมินตันก็เริ่มแพร่หลายในประเทศแถบภาคพื้นยุโรป เนื่องจากเป็นเกมที่คล้ายเทนนิส แต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึก โดยไม่ต้องกังวลต่อลมหรือหิมะในฤดูหนาว นอกจากนี้ ชาวยุโรปที่อพยพไปสู่ทวีปอเมริกา ยังได้นำกีฬาแบดมินตันไปเผยแพร่ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนเองอย่างแพร่หลาย เกมกีฬาแบดมินตันจึงกระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

          สำหรับการเล่นแบดมินตันในระยะแรกไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพียงแต่เป็นการตีโต้ลูกกันไปมาไม่ให้ลูกตกพื้นเท่านั้น ส่วนเส้นแบ่งแดนก็ใช้ตาข่ายผูกโยงระหว่างต้นไม้สองต้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต่ำสูง เล่นกันข้างละไม่น้อยกว่า 4 คน ส่วนมาจะเล่นทีมละ 6 ถึง 9 คน ผู้เล่นสามารถแต่งตัวได้ตามสบาย

          จนกระทั่งปี พ.ศ.2436 ได้มีการจัดตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษขึ้น ซึ่งนับเป็นสมาคมแบดมินตันแห่งแรกของโลก หลังจากที่มีการจัดแข่งขันแบดมินตันชิงชนะเลิศแห่งประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า ออลอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ทางสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษจึงได้ตั้งกฎเกณฑ์ของสนามมาตรฐานขึ้นคือ ขนาดกว้าง 22 ฟุต ยาว 45 ฟุต (22 x 45) เป็นสนามขนาดมาตรฐานประเภทคู่ที่ใช้ในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดัดแปลงในเรื่องอุปกรณการเล่นให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่มีการเล่นกีฬาแบดมินตันและได้รับความนิยมสูงสุดคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย

          ส่วนการแข่งขันระหว่างประเทศได้เริ่มจัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2445 และตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแบดมินตันระหว่างประเทศมีมากว่า 31 ประเทศ แบดมินตันได้กลายเป็นเกมกีฬาที่เล่นกันระหว่างชาติ โดยมีการยกทีมข้ามประเทศเพื่อแข่งขันระหว่างชาติในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ.2468 กลุ่มนักกีฬาของประเทศอังกฤษได้แข่งขันกับกลุ่มนักกีฬาประเทศแคนาดา ห้าปีหลังจากนั้นพบว่าประเทศแคนาดามีสโมสรสำหรับฝึกแบดมินตันมาตรฐานแทบทุกเมือง

          ในปี พ.ศ.2477 สมาคมแบดมินตันของประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในการก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ โดยมีชาติต่าง ๆ อีก 8 ชาติคือ แคนาดา เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สก๊อตแลนด์ และเวลล์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ปัจจุบันมีประเทศที่อยู่ในเครือสมาชิกกว่า 60 ประเทศ ที่ขึ้นต่อสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ (I.B.F.) สหพันธ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนด และควบคุมกติการะเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของการแข่งขันกีฬาแบดมินตันทั่วโลก

          ในปี พ.ศ.2482 เซอร์ จอร์จ โทมัส นักแบดมินตันอาวุโสชาวอังกฤษเป็นผู้มอบถ้วยทองราคา 5,000 ปอนด์ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศประเภทชาย ในการแข่งขันแบดมินตันระหว่างประเทศ ซึ่งสหพันธ์แบดมินตันได้รับไว้และดำเนินการตามประสงค์นี้ แม้ว่าตามทางการจะเรียกว่า การแข่งขันชิงถ้วยชนะเลิศแบดมินตันระหว่างประเทศ แต่นิยมเรียกกันว่า โธมัสคัพ (Thomas Cup) การแข่งขันจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี โดยสหพันธ์ได้แบ่งเขตการแข่งขันของชาติสมาชิกออกเป็น 4 โซน คือ

          1. โซนยุโรป

          2. โซนอเมริกา

          3. โซนเอเชีย

          4. โซนออสเตรเลเซีย (เดิมเรียกว่าโซนออสเตรเลีย)

          วิธีการแข่งขันจะแข่งขันชิงชนะเลิศภายในแต่ละโซนขึ้นก่อน แล้วให้ผู้ชนะเลิศแต่ละโซนไปแข่งขันรอบอินเตอร์โซนเพื่อให้ผู้ชนะเลิศทั้ง 4 โซน ไปแข่งขันชิงชนะเลิศกับทีมของชาติที่ครอบครองดถ้วยโธมัสคัพอยู่ ซึ่งได้รับเกียรติไม่ต้องแข่งขันในรอบแรกและรอบอินเตอร์โซน ชุดที่เข้าแข่งขันประกอบด้วยผู้เล่นอย่างน้อย 4 คน การที่จะชนะเลิศนั้นจะตัดสินโดยการรวมผลการแข่งขันของประเภทชายเดี่ยว 5 คู่ และประเภทชายคู่ 4 คู่ รวม 9 คู่ และใช้เวลาการแข่งขัน 2 วัน การแข่งขันชิงถ้วยโธมัสคัพครั้งแรกจัดให้มีขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2491-2492

          ต่อมาในการแข่งขันแบดมินตันโธมัสคัพ ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2512-2513 สหพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขันเล็กน้อย โดยให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นเข้าร่วมแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนด้วย โดยวิธีการจับสลากแล้วแบ่งออกเป็น 2 สาย ผู้ชนะเลิศแต่ละสายจะได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศโธมัสคัพรอบสุดท้ายต่อไป สาเหตุที่สหพันธ์เปลี่ยนแปลงการแข่งขันใหม่นี้ เนื่องจากมีบางประเทศที่ชนะเลิศได้ครอบครองถ้วยโธมัสคัพไม่รักษาเกียรติที่ได้รับจากสหพันธ์ไว้ โดยพยายามใช้ชั้นเชิงที่ไม่ขาวสะอาดรักษาถ้วยโธมัสคัพไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์จึงต้องเปลี่ยนข้อบังคับให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นลงแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนดังกล่าวด้วย

          กีฬาแบดมินตันได้แพร่หลายขึ้น แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศสังคมนิยมก็ได้มีการเล่นเบดมินตันอย่างกว้างขวาง มีการบรรจุแบดมินตันเข้าไว้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ การแข่งขันกีฬาของประเทศในเครือจักภพสหราชอาณาจักร รวมทั้งการพิจารณาแบดมินตันเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า แบดมินตันได้กลายเป็นกีฬาสากลแล้วอย่างแท้จริง
แบดมินตัน

ประวัติแบดมินตันในประเทศไทย
     
          การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมี ตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามขึ้นที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านาย และในราชสำนัก การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้เป็นผู้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภทได้แก่ ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท นอกจากนี้ มีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีเดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ

          ในปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งสมาคมชื่อว่า "สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย" เมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร สโมสรบางกอก สโมสรนิวบอย สโมสรยูนิตี้ สโมสร ส.ธรรมภักดี สโมสรสิงห์อุดม และสโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือ สโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น และในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติด้วย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจากการลงแข่งขันใน รายการต่าง ๆ ของโลกเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ โดยวงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย

          กติกาของกีฬาแบดมินตัน

          

แบดมินตัน
ภาพผัง ก.

1. สนามและอุปกรณ์สนาม

1.1 สนามจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบด้วยเส้นกว้างขนาด 40 มิลลิเมตร ตามภาพผัง ก.

1.2 เส้นทุกเส้นต้องเด่นชัด และควรทาด้วยสีขาวหรือสีเหลือง

1.3 เส้นทุกเส้นเป็นส่วนประกอบของพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้

1.4 เสาตาข่ายจะต้องสูง 1.55 เมตรจากพื้นสนาม และตั้งตรงเมื่อขึงตาข่ายให้ตึงตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกา ข้อ 1.10 โดยที่จะต้องไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเสายื่นเข้ามาในสนาม (เฉพาะรายการที่รับรองโดย IBF จะต้องใช้ระเบียบนี้ จนกระทั่ง 1 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ทุกรายการที่แข่งขันจะต้องยึดตามระเบียบนี้)

1.5 เสาตาข่ายจะต้องตั้งอยู่บนเส้นเขตข้างของประเภทคู่ ตามที่ได้แสดงไว้ในภาพผัง ก. โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นประเภทเดี่ยวหรือเล่นคู่

1.6 ตาข่ายจะต้องถักด้วยเส้นด้ายสีเข้ม และมีขนาดตากว้างไม่น้อยกว่า 15 มิลลิเมตร และไม่เกิน 20 มิลลิเมตร

1.7 ตาข่ายต้องมีความกว้าง 760 มิลลิเมตร และความยาวอย่างน้อย 6.1 เมตร

1.8 ขอบบนของตาข่ายต้องมีแถบผ้าสีขาวพับสอง ขนาดกว้าง 75 มิลลิเมตร ทับบนเชือกหรือลวดที่ร้อยตลอดแถบผ้าขาว

1.9 เชือกหรือลวดต้องมีขนาดพอที่จะขึงให้ตึงเต็มที่กับหัวเสา

1.10 สุดขอบบนตาข่ายต้องสูงจากพื้นที่ตรงกึ่งกลางสนาม 1.524 เมตร และ 1.55 เมตร เหนือเส้นเขตข้างของประเภทคู่

1.11 ต้องไม่มีช่องว่างระหว่างสุดปลายตาข่ายกับเสา ถ้าจำเป็นต้องผูกร้อยปลายตาข่ายทั้งหมดกับเสา

2. ลูกขนไก่

2.1 ลูกขนไก่อาจทำจากวัสดุธรรมชาติ  หรือวัสดุสังเคราะห์ ไม่ว่าลูกนั้นจะทำจากวัสดุชนิดใดก็ตาม ลักษณะวิถีวิ่ง
ทั่วไป จะต้องเหมือนกับลูกซึ่งทำจากขนธรรมชาติ ฐานเป็นหัวไม้ก๊อก หุ้มด้วยหนังบาง

2.2 ลูกขนไก่ต้องมีขน 16 อัน ปักอยู่บนฐาน

2.3 วัดจากปลายขนถึงปลายสุดของฐาน โดยความยาวของขนในแต่ละลูกจะเท่ากันหมด ระหว่าง 62 มิลลิเมตร ถึง 70 มิลลิเมตร

2.4 ปลายขนแผ่เป็นรูปวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 58 มิลลิเมตร ถึง 68 มิลลิเมตร

2.5 ขนต้องมัดให้แน่นด้วยเส้นด้าย หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม

2.6 ฐานของลูกต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตร ถึง 28 มิลลิเมตร และส่วนล่างมนกลม

2.7 ลูกขนไก่จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 4.74 ถึง 5.50 กรัม

2.8 ลูกขนไก่ที่ไม่ใช้ขนธรรมชาติ  2.8.1 ใช้วัสดุสังเคราะห์แทนขนธรรมชาติ
  2.8.2 ฐานลูก ดังที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 2.6
  2.8.3 ขนาดและน้ำหนักของลูกต้องเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 2.3, 2.4 และ 2.7 อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของความถ่วงจำเพาะ และคุณสมบัติของวัสดุสังเคราะห์โดยการเปรียบเทียบกับขนธรรมชาติ ยอมให้มีความแตกต่างได้ถึง 10%

2.9 เนื่องจากมิได้กำหนดความแตกต่างในเรื่องลักษณะทั่วไป ความเร็วและวิถีวิ่งของลูกอาจมีการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น ได้โดยการอนุมัติจากองค์กรแห่งชาติที่เกี่ยวข้องในที่ซึ่งสภาพความกดอากาศสูงหรือสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นเหตุให้ลูกขนไก่ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสม

3. การทดสอบความเร็วของลูก

3.1 การทดสอบ ให้ยืนหลังเส้นเขตหลังแล้วตีลูกใต้มืออย่างสุดแรง โดยจุดสัมผัสลูกอยู่เหนือเส้นเขตหลัง ลูกจะพุ่งเป็นมุมสูง และอยู่ในแนวขนานกับเส้นเขตข้าง

3.2 ลูกที่มีความเร็วถูกต้อง จะตกห่างจากเส้นเขตหลังของอีกด้านหนึ่งไม่น้อยกว่า 530 มิลลิเมตร และไม่มากกว่า 990 มิลลิเมตร (ภาพผัง ข.)

แบดมินตัน
ภาพผัง ข.

4. แร็กเกต

4.1 เฟรมของแร็กเกตยาวทั้งหมดไม่เกิน 680 มิลลิเมตร และกว้างทั้งหมดไม่เกิน 230 มิลลิเมตร ส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญได้อธิบายไว้ในกติกาข้อ 4.1.1 ถึง 4.1.5 และได้แสดงไว้ในภาพผัง ค.

แบดมินตัน
ภาพผัง ค.

  4.1.1 ด้านจับ เป็นส่วนของแร็กเกตที่ผู้เล่นใช้จับ
  4.1.2 พื้นที่ขึงเอ็น เป็นส่วนของแร็กเกตที่ผู้เล่นใช้ตีลูก
  4.1.3 หัว บริเวณที่ใช้ขึงเอ็น
  4.1.4 ก้าน ต่อจากด้ามจับถึงหัว (ขึ้นอยู่กับกติกาข้อ 4.1.5)
  4.1.5 คอ (ถ้ามี) ต่อก้านกับขอบหัวตอนล่าง

4.2 พื้นที่ขึงเอ็น
  4.2.1 พื้นที่ขึงเอ็นต้องแบนราบ ด้วยการร้อยเอ็นเส้นขวางขัดกับเส้นยืนแบบการขึงเอ็นทั่วไป โดยพื้นที่ตอนกลาง ไม่ควรทึบน้อยกว่าตอนอื่น ๆ
  4.2.2 พื้นที่ขึงเอ็นต้องยาวทั้งหมดไม่เกิน 280 มิลลิเมตร และกว้างทั้งหมดไม่เกิน 220 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตามอาจขึงไปถึงคอเฟรม หากความกว้างที่เพิ่มของพื้นที่ขึงเอ็นนั้นไม่เกิน 35 มิลลิเมตรและความยาวทั้งหมดของพื้นที่ขึงเอ็นต้องไม่เกิน 330 มิลลิเมตร

4.3 แร็กเกต
  4.3.1 ต้องปราศจากวัตถุอื่นติดอยู่ หรือยื่นออกมา ยกเว้นจากส่วนที่ทำเพื่อจำกัดและป้องกันการสึกหรอ ชำรุดเสียหาย การสั่นสะเทือน การกระจายน้ำหนัก หรือการพันด้ามจับให้กระชับมือผู้เล่น และมีความเหมาะสมทั้งขนาดและการติดตั้งสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว
 4.3.2 ต้องปราศจากสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้เล่นเปลี่ยนรูปทรงของแร็กเกต


5. การยอมรับอุปกรณ์

          สหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ จะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับปัญหาของแร็กเกต ลูกขนไก่ หรืออุปกรณ์ต้นแบบ ซึ่งใช้ในการเล่นแบดมินตันให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ กฏเกณฑ์ดังกล่าวอาจเป็นการริเริ่มของสหพันธ์เองหรือจากการยื่นความจำนงของคณะบุคคล ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงกับผู้เล่น ผู้ผลิต หรือองค์กรแห่งชาติหรือสมาชิกขององค์กรนั้น ๆ


6. การเสี่ยง

6.1 ก่อนเริ่มเล่น จะต้องทำการเสียง ฝ่ายที่ชนะการเสียง มีสิทธิ์เลือกตามกติกาข้อ 6.1.1 หรือ 6.1.2
  6.1.1 ส่งลูกหรือรับลูกก่อน
  6.1.2 เริ่มเล่นจากสนามข้างใดข้างหนึ่ง

6.2 ฝ่ายที่แพ้การเสี่ยง มีสิทธิ์ที่เหลือจากการเลือก


7. ระบบการนับคะแนน

7.1 แมทช์หนึ่งต้องชนะให้ได้มากที่สุดใน 3 เกม เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น

7.2 ในประเภทชายคู่และประเภทชายเดี่ยว ฝ่ายที่ได้ 15 คะแนนก่อนเป็นฝ่ายชนะในเกมนั้น ยกเว้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 7.5

7.3 ในประเภทหญิงเดี่ยว หญิงคู่ คู่ผสม ฝ่ายที่ได้ 11 คะแนนก่อนเป็นฝ่ายชนะในเกมนั้น ยกเว้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 7.5

7.4 ฝ่ายส่งลูกเท่านั้น เป็นฝ่ายได้คะแนน (ดูกติกาข้อ 10.3 หรือ 11.5)

7.5 ถ้าได้ 14 คะแนนเท่ากัน (10 คะแนนเท่ากันในประเภทหญิงเดี่ยว หญิงคู่ คู่ผสม) ฝ่ายที่ได้ 14 (10) คะแนนก่อน มีสิทธิ์เลือกในกติกาข้อ 7.5.1 หรือ 7.5.2:-
  7.5.1 ต่อเกมนั้นถึง 15 (11) คะแนน กล่าวคือ ไม่เล่นต่อ ในเกมนั้น หรือ
  7.5.2 เล่นต่อ เกมนั้นถึง 17 (13) คะแนน

7.6 ฝ่ายชนะ เป็นฝ่ายส่งลูกก่อนในเกมต่อไป


8. การเปลี่ยนข้าง

8.1 ผู้เล่นจะเปลี่ยนข้าง :-
  8.1.1 หลังจากจบเกมที่ 1
  8.1.2 ก่อนเริ่มเล่นเกมที่ 3 (ถ้ามี) และ
  8.1.3 ในเกมที่ 3 หรือในการแข่งขันเกมเดียว เมื่อคะแนนนำถึง 6 คะแนน สำหรับเกม 11 คะแนน / 8 คะแนน สำหรับเกม 15 คะแนน

8.2 ถ้าผู้เล่นลืมเปลี่ยนข้างตามที่ได้ระบุไว้ในกติกาข้อ 8.1 ผู้เล่นต้องเปลี่ยนข้างทันทีที่รู้ตัวและลูกไม่อยู่ในการเล่น และให้นับนับคะแนนต่อจากคะแนนที่ได้ในขณะนั้น


9. การส่งลูก

9.1 ในการส่งลูกที่ถูกต้อง
  9.1.1 ทั้งสองฝ่ายต้องไม่ประวิงเวลาให้เกิดความล่าช้าในการส่งลูกทันทีที่ผู้ส่งลูก และผู้รับลูกอยู่ในท่าพร้อมแล้ว
  9.1.2 ผู้ส่งลูกและผู้รับลูก ต้องยืนในสนามส่งลูกทะแยงมุมตรงข้ามโดยเท้าไม่เหยียบเส้นเขตของสนามส่งลูก
  9.1.3 บางส่วนของเท้าทั้งสองของผู้ส่งลูกและผู้รับลูก ต้องแตะพื้นสนามในท่านิ่งตั้งแต่เริ่มส่งลูก (กติกาข้อ 9.4) จนกระทั่งส่งลูกแล้ว (กติกาข้อ 9.5)
  9.1.4 จุดสัมผัสแรกของแร็กเกตผู้ส่งต้องตีที่ฐานของลูก
  9.1.5 ทุกส่วนของลูกจะต้องอยู่ต่ำกว่าเอวของผู้ส่ง ขณะที่แร็กเกตสัมผัสลูก
  9.1.6 ก้านแร็กเกตของผู้ส่งลูกในขณะตีลูก ต้องชี้ลงต่ำจนเห็นได้ชัดว่า ส่วนหัวทั้งหมดของแร็กเกตอยู่ต่ำกว่าทุกส่วนของมือที่จับแร็กเกตของผู้ส่งลูก ตามภาพผัง ง.
  9.1.7 การเคลื่อนแร็กเกตของผู้ส่งลูกไปข้างหน้า ต้องต่อเนื่องจากการเริ่มส่งลูก (กติกาข้อ 9.4) จนกระทั่งได้ส่งลูกแล้ว และ
  9.1.8 วิถีลูกจะพุ่งขึ้นจากแร็กเกตของผู้ส่งลูกข้ามตาข่าย และถ้าปราศจากการสะกัดกั้น ลูกจะตกลงบนพื้นสนามส่งลูกของผู้รับลูก (กล่าวคือ บนหรือภายในเส้นเขต)

9.2 ถ้าการส่งลูกไม่ถูกต้อง ตามกติกาของข้อ 9.1.1 ถึง 9.1.8 ถือว่าฝ่ายทำผิด เสีย (กติกาข้อ 13)

9.3 ถือว่า เสีย ถ้าผู้ส่งลูกพยายามจะส่งลูก โดยตีไม่ถูกลูก

9.4 เมื่อผู้เล่นอยู่ในท่าพร้อมแล้ว การเคลื่อนแร็กเกตไปข้างหน้าของผู้ส่งลูกถือว่า เริ่มส่งลูก

9.5 ถือว่าได้ส่งลูกแล้ว (กติกาข้อ 9.4) ถ้าแร็กเกตของผู้ส่งสัมผัสลูกหรือพยายามจะส่งลูกแต่ตีไม่ถูกลูก

9.6 ผู้ส่งลูกจะส่งลูกไม่ได้ถ้าผู้รับลูกยังไม่พร้อม แต่ถือว่าผู้รับลูกพร้อมแล้วถ้าพยายามตีลูกที่ส่งมากลับไป

9.7 ในประเภทคู่ คู่ขาจะยืน ณ ที่ใดก็ได้ โดยไม่บังผู้ส่งลูกและผู้รับลูก


10. ประเภทเดี่ยว

10.1 สนามส่งลูกและรับลูก
  10.1.1 ผู้เล่นจะส่งลูกและรับลูกในสนามส่งลูกด้านขวา เมื่อผู้ส่งลูกทำคะแนนไม่ได้ หรือคะแนนที่ได้เป็นเลขคู่ในเกมนั้น
  10.1.2 ผู้เล่นจะส่งลูกและรับลูกในสนามส่งลูกด้านซ้าย เมื่อผู้ส่งลูกได้คะแนนเป็นเลขคี่ในเกมนั้น

10.2 ผู้ส่งลูกและรับลูกจะตีโต้ลูกจนกว่าจะเกิด เสีย หรือลูกไม่อยู่ในการเล่น

10.3 คะแนนและการส่งลูก
  10.3.1 ถ้าผู้รับทำเสีย หรือลูกไม่อยู่ในการเล่นเพราะตกลงบนพื้นสนามของผู้รับ ผู้ส่งลูกได้คะแนน ผู้ส่งจะได้ส่งลูกต่อไปในสนามส่งอีกด้านหนึ่ง
 10.3.2 ถ้าผู้ส่งทำเสีย หรือลูกไม่อยู่ในการเล่นเพราะตกลงบนพื้นสนามของผู้ส่ง ผู้ส่งหมดสิทธิ์การส่งลูก และผู้รับก็จะได้เป็นผู้ส่งลูก โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายไม่ได้คะแนน


11.ประเภทคู่

11.1 เมื่อเริ่มเล่นแต่ละครั้ง ฝ่ายที่ได้สิทธิ์ส่ง ต้องเริ่มส่งจากสนามส่งลูกด้านขวา

11.2 ผู้รับลูกเท่านั้นเป็นผู้ตีลูกกลับไป ถ้าลูกถูกตัว หรือคู่ขาของผู้รับตีลูก ถือว่า เสีย ผู้ส่งลูกได้ 1 คะแนน

11.3 ลำดับการเล่นและตำแหน่งยืนในสนาม
  11.3.1 หลังจากได้รับลูกที่ส่งมาแล้ว ผู้เล่นของฝ่ายส่งคนหนึ่งคนใดตีลูกกลับไป และผู้เล่นคนหนึ่งคนใดของฝ่ายรับโต้ลูกกลับมา เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่า ลูกไม่อยู่ในการเล่น
  11.3.2 หลังจากได้รับลูกที่ส่งมาแล้ว ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดจะตีโต้ลูกจากที่ใดก็ได้ภายในสนามของตนโดยมีตาข่ายกั้น

11.4 สนามส่งลูกและรับลูก
  11.4.1 ผู้เล่นมีสิทธิ์ส่งตอนเริ่มต้นของแต่ละเกม จะส่งหรือรับลูกในสนามส่งด้านขวา เมื่อผู้เล่นฝ่ายนั้นไม่ได้คะแนน หรือคะแนนในเกมนั้นเป็นเลขคู่ และในสนามส่งลูกด้านซ้ายเมื่อคะแนนในเกมนั้นเป็นเลขคี่
  11.4.2 ผู้เล่นที่เป็นผู้รับตอนเริ่มต้นของแต่ละเกม จะรับหรือส่งลูกในสนามส่งลูกด้านขวา เมื่อผู้เล่นฝ่ายนั้นไม่ได้คะแนน หรือคะแนนในเกมนั้นเป็นเลขคู่ และในสนามส่งลูกด้านซ้าย เมื่อคะแนนในเกมนั้นเป็นเลขคี่
  11.4.3 ให้คู่ขาของผู้เล่นปฏิบัติในทางกลับกัน

11.5 คะแนนและการส่งลูก
  11.5.1 ถ้าฝ่ายรับทำ เสีย หรือลูกไม่อยู่ในการเล่น เพราะลูกตกลงบนพื้นสนามของฝ่ายรับ ฝ่ายส่งได้ 1 คะแนน และผู้ส่งยังคงได้ส่งลูกต่ออีก
  11.5.2 ถ้าฝ่ายส่งทำ เสีย หรือลูกไม่อยู่ในการเล่น เพราะลูกตกลงบนพื้นสนามของฝ่ายส่ง ผู้ส่งหมดสิทธิ์ส่งลูก โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายไม่ได้คะแนน

 11.6 การส่งลูกทุกครั้ง ต้องส่งจากสนามส่งลูก สลับกันไป ยกเว้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 12 และ ข้อ 14

11.7 ในการเริ่มต้นเกมใดก็ตาม ผู้มีสิทธิ์ส่งลูกคนแรก ส่งลูกจากสนามด้านขวาไปยังผู้รับลูกคนแรกและจากนั้นไปยังคู่ขาของผู้รับตามลำดับไป จนกระทั่งเสียสิทธิ์และเปลี่ยนส่งไปให้ฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องเริ่มส่งจากสนามด้านขวา (กติกาข้อ 11.4) จากนั้นจะให้คู่ขาส่ง จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

11.8 ห้ามผู้เล่นส่งลูกก่อนถึงเวลาที่ตนเป็นผู้ส่ง หรือรับลูกก่อนถึงเวลาที่ตนเป็นผู้รับ หรือรับลูกติดต่อกันสองครั้งในเกมเดียวกัน ยกเว้นตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 12 และ 14

11.9 ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดของฝ่ายชนะ จะเป็นผู้ส่งลูกก่อนในเกมต่อไปก็ได้ และผู้เล่นคนหนึ่งคนใดของฝ่ายแพ้จะเป็นผู้รับลูกก่อนก็ได้


12. ความผิดในสนามส่งลูก

12.1 ความผิดในสนามส่งลูกเกิดขึ้นเมื่อผู้เล่น
  12.1.1 ส่งลูกก่อนถึงเวลาที่ตนเป็นผู้ส่ง
  12.1.2 ส่งลูกจากสนามส่งลูกที่ผิด หรือ
  12.1.3 ยืนผิดสนามและได้เตรียมพร้อมที่จะรับลูกที่ส่งมา

12.2 ถ้าพบความผิดในสนามส่งลูกก่อนส่งลูกครั้งต่อไป
  12.2.1 หากฝ่ายหนึ่งทำผิดและชนะในการตีโต้ ให้ เอาใหม่
  12.2.2 หากฝ่ายหนึ่งทำผิดและแพ้ในการตีโต้ ไม่มีการแก้ไขความผิด
  12.2.3 หากทั้งสองฝ่ายทำความผิดด้วยกัน ให้ เอาใหม่

12.3 ถ้ามีการ เอาใหม่ เพราะความผิดในสนามส่งลูก ให้เล่นใหม่พร้มกับแก้ไข

12.4 ถ้าพบความผิดในสนามส่งลูกหลังจากได้ส่งลูกครั้งต่อไปแล้ว จะไม่มีการแก้ไขความผิดนั้น ให้เล่นต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนสนามส่งลูกใหม่ของผู้เล่น (หรือให้เปลี่ยนลำดับใหม่ของการส่งลูกในกรณีเดียวกัน)


13. การทำเสีย

13.1 ถ้าการส่งลูกไม่ถูกต้อง (กติกาข้อ 9.1) หรือตามกติกาข้อ 9.3 หรือ 11.2

13.2 ถ้าในขณะเล่น ลูกขนไก
  13.2.1 ตกลงบนพื้นนอกเส้นเขตสนาม (กล่าวคือ ไม่อยู่บนหรือภายในเส้นเขตสนาม)
  13.2.2 ลอดผ่านหรือลอดใต้ตาข่าย
  13.2.3 ไม่ข้ามตาข่าย
  13.2.4 ถูกเพดาน หรือ ฝาผนัง
  13.2.5 ถูกตัวผู้เล่น หรือเครื่องแต่งกายผู้เล่น
  13.2.6 ถูกวัตถุหรือตัวบุคคลภายนอกที่อยู่ใกล้เคียงล้อมรอบสนาม (ในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับโครงสร้างของตัวอาคารผู้มีอำนาจเกี่ยวกับแบดมินตันท้องถิ่น อาจวางกฎเพิ่มเติมเกี่ยวกับลูกถูกสิ่งกีดขวางได้ ทั้งนี้ ย่อมแล้วแต่สิทธิความเห็นชอบของภาคีสมาชิก)

13.3 ถ้าในระหว่างการเล่น ผู้เล่นตีลูกก่อนที่ลูกข้ามตาข่ายมาในเขตสนามของตัวเอง (อย่างไรก็ดี ผู้ตีอาจใช้แร็กเกตตามลูกข้ามตาข่ายในระหว่างตีลูก)

13.4 ถ้าลูกอยู่ในระหว่างการเล่น ผู้เล่น
  13.4.1 ถูกตาข่ายหรืออุปกรณ์ที่ขึง ด้วยแร็กเกต ด้วยตัว หรือด้วยเครื่องแต่งกาย 
  13.4.2 ล้ำบนตาข่ายเข้าไปในเขตสนามของคู่ต่อสู้ ด้วยแร็กเกต ด้วยตัว ยกเว้นตามที่ได้รับอนุญาตไว้ในกติกาข้อ 13.3
  13.4.3 ล้ำใต้ตาข่ายเข้าไปในเขตสนามของคู่ต่อสู้ด้วยแร็กเกต หรือด้วยตัว จนเป็นการกีดขวางหรือทำลายสมาธิคู่ต่อสู้
  13.4.4 กีดขวางคู่ต่อสู้ กล่าวคือ กันไม่ให้คู่ต่อสู้ตีลูกที่ข้ามตาข่ายมาอย่างถูกต้องตามกติกา

13.5 ถ้าในระหว่างการเล่น ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดจงใจทำลายสมาธิคู่ต่อสู้ด้วยการกระทำต่าง ๆ เช่น ร้องตะโกนหรือแสดงท่าทาง

13.6 ถ้าระหว่างการเล่น ลูกขนไก่
  13.6.1 ติดอยู่ในแร็กเกต แล้วถูกเหวี่ยงออกไปในระหว่างตีลูก
  13.6.2 ถูกตีสองครั้งติดต่อกัน โดยผู้เล่นคนเดียวกัน
  13.6.3 ถูกตีโดยผู้เล่นคนหนึ่ง และคู่ขาของผู้เล่นคนนั้นติดต่อกัน หรือ
  13.6.4 ถูกแร็กเกตของผู้เล่นคนหนึ่ง แล้วลอยไปทางท้ายสนามด้านหลังของผู้เล่นคนนั้น

13.7 ถ้าผู้เล่นทำผิดอย่างโจ่งแจ้ง ซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือผิดพลาดอยู่ตลอด ตามกติกาข้อ 16

13.8 ถ้าหลังจากส่งลูกแล้วลูกไปติดและค้างอยู่บนตาข่าย หรือลูกข้ามตาข่ายแล้วติดค้างอยู่ในตาข่าย

14. การ "เอาใหม่"

14.1 การ เอาใหม่ จะขานโดยกรรมการผู้ตัดสิน หรือ โดยผู้เล่น (ถ้าไม่มีกรรมการผู้ตัดสิน) ขานให้หยุดเล่น ในกรณีที่
  14.1.1 ถ้าผู้ส่งลูก ส่งลูกโดยที่ผู้รับลูกยังไม่พร้อม (ดูกติกาข้อ 9.6)
  14.1.2 ถ้าในระหว่างการส่งลูก ผู้รับและผู้ส่งลูกทำเสีย พร้อมกันทั้งสองฝ่ายในเวลาเดียวกัน
  14.1.3 ถ้าลูกไปติดและค้างอยู่บนตาข่าย หรือลูกข้ามตาข่ายแล้วติดค้างอยู่ในตาข่ายยกเว้นในการส่งลูก
  14.1.4 ถ้าในระหว่างการเล่น ลูกขนไก่แตกแยกออกเป็นส่วน ๆ และฐานแยกออกจากส่วนที่เหลือของลูกโดยสิ้นเชิง
  14.1.5 ถ้ากรรมการกำกับเส้นมองไม่เห็น และกรรมการผู้ตัดสินไม่สามารถตัดสินใจได้
  14.1.6 สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดในสนามส่งลูก ตามที่ระบุในกติกาข้อ 12.2.1 หรือ 12.2.3 หรือ
  14.1.7 สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน หรือโดยเหตุบังเอิญ

14.2 เมื่อมีการ เอาใหม่ การเล่นหลังจากการส่งลูกครั้งสุดท้ายถือเป็นโมฆะ และผู้เล่นที่ส่งลูกจะได้ส่งลูกอีกครั้งหนึ่ง ยกเว้นหากเป็นไปตามกติกาข้อ 12

15. ลูกไม่อยู่ในการเล่น

ลูกไม่อยู่ในการเล่น เมื่อ

15.1 ลูกชนตาข่ายแล้วติดอยู่ที่ตาข่าย หรือค้างอยู่บนขอบตาข่าย

15.2 ลูกชนตาข่ายหรือเสาตาข่ายแล้วตกลงบนพื้นสนามในด้านของผู้ตีลูก

15.3 ลูกถูกพื้นสนาม หรือ

15.4 เกิดการ เสีย หรือการ "เอาใหม่"


16. การเล่นต่อเนื่อง, การทำผิด, การลงโทษ

16.1 การเล่นต้องต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มส่งลูกครั้งแรกจนสิ้นสุดการแข่งขัน ยกเว้นตามที่ได้อนุญาตไว้ในกติกาข้อ 16.2 และ 16.3

16.2 พักระหว่างการจบเกมที่ 1 และเริ่มเกมที่ 2 ได้ไม่เกิน 90 วินาที และไม่เกิน 5 นาที ระหว่างจบเกมที่ 2 และเริ่มเกมที่ 3 อนุญาตสำหรับทุกแมทช์ของการแข่งขัน (ในการแข่งขันที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ กรรมการผู้ชี้ขาดอาจตัดสินใจก่อนเริ่มการแข่งขันว่า การพักตามกติกาข้อ 16.2 อยู่ในอาณัติและเวลากำหนด)

16.3 พักการเล่นเมื่อมีความจำเป็นจากสภาพแวดล้อมที่มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เล่น กรรมการผู้ตัดสินอาจสั่งให้พักการเล่นชั่วคราวตามที่พิจารณาเห็นว่าจำเป็นภายใต้สภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่ผิดปกติ กรรมการผู้ชี้ขาดอาจแนะนำให้กรรมการผู้ตัดสินพักการเล่น
  16.3.1 เมื่อมีความจำเป็นจากสภาพแวดล้อมที่มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เล่น กรรมการผู้ตัดสินอาจสั่งให้พักการเล่นชั่วคราวตามที่พิจารณาเห็นว่าจำเป็น
  16.3.2 ภายใต้สภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่ผิดปกติ กรรมการผู้ชี้ขาดอาจแนะนำให้กรรมการผู้ตัดสินพักการเล่น
  16.3.3 ถ้ามีการพักการเล่น คะแนนที่ได้จะอยู่คงเดิม และจะเริ่มใหม่จากคะแนนนั้น

16.4 การถ่วงเวลาการเล่น
  16.4.1 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ห้ามถ่วงเวลาการเล่นเพื่อให้ผู้เล่นฟื้นคืนกำลัง หรือหายเหนื่อย
  16.4.2 กรรมการผู้ตัดสินจะวินิจฉัยความล่าช้าแต่เพียงผู้เดียว

16.5 คำแนะนำและการออกนอกสนาม
  16.5.1 ห้ามผู้เล่นรับคำแนะนำระหว่างการแข่งขัน ยกเว้นการพักตามกติกาข้อ 16.2 และ 16.3
  16.5.2 ห้ามผู้เล่นเดินออกนอกสนามระหว่างการแข่งขันโดยมิได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้ตัดสิน ยกเว้นระหว่างพัก 5 นาที ตามที่ได้กำหนดไว้ในกติกาข้อ 16.2

16.6 ผู้เล่นต้องไม่จงใจถ่วงเวลา หรือพักการเล่น, จงใจแปลงหรือทำลายลูกเพื่อเปลี่ยนความเร็วและวิถี, แสดงกิริยาก้าวร้าว หรือกระทำผิดนอกเหนือกติกา

16.7 กรรมการผู้ตัดสินจะต้องดำเนินการกับความผิดตามกติกาข้อ 16.4, 16.5 หรือ 16.6 โดย
  16.7.1 เตือนผู้กระทำผิด
  16.7.2 ตัดสิทธิ์ผู้กระทำผิดหลังจากได้เตือนก่อนแล้ว
  16.7.3 ในกรณีผิดอย่างเห็นได้ชัด หรือผิดอยู่ตลอด ให้ตัดสิทธิ์ผู้กระทำผิด แล้วรายงานให้กรรมการผู้ชี้ขาดทราบทันที ซึ่งกรรมการผู้ชี้ขาดมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิดออกจากการแข่งขัน

17. กรรมการสนามและการอุทธรณ์

17.1 กรรมการผู้ชี้ขาดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการแข่งขันทั้งหมด 

17.2 หากมีการแต่งตั้ง กรรมการผู้ตัดสิน ให้มีหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน สนาม และบริเวณโดยรอบสนามแข่งขัน กรรมการผู้ตัดสินต้องรายงานต่อกรรมการผู้ชี้ขาด 

17.3 กรรมการกำกับการส่งลูกเป็นผู้ขาน เสีย สำหรับการส่งลูกที่ผู้ส่งลูกเป็นผู้กระทำผิด (กติกาข้อ 9) 

17.4 กรรมการกำกับเส้นเป็นผู้ให้สัญญาณ ดี หรือ ออก ในเส้นเขตที่ได้รับมอบหมาย 

17.5 การตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทั้งหมดของกรรมการสนามที่รับผิดชอบถือว่าสิ้นสุด

17.6 กรรมการผู้ตัดสินจะต้อง 

  17.6.1 ควบคุมการแข่งขันให้ดำเนินไปภายใต้กฏกติกาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาน เสีย หรือ เอาใหม่ เมื่อมีกรณีเกิดขึ้น 

  17.6.2 ตัดสินคำอุทธรณ์เกี่ยวกับการโต้แย้ง ซึ่งมีขึ้นก่อนการส่งลูกครั้งต่อไป 

  17.6.3 แน่ใจว่า ผู้เล่นและผู้ชมได้ทราบถึงความคืบหน้าของการแข่งขัน 

  17.6.4 แต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการกำกับเส้น หรือกรรมการกำกับการส่งลูก หลังจากได้ปรึกษากับกรรมการผู้ชี้ขาดแล้ว 

  17.6.5 หากไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสนามอื่น จะต้องปฏิบัติหน้าที่นั้นให้เรียบร้อย 

  17.6.6 หากกรรมการสนามที่ได้รับการแต่งตั้งมองไม่เห็น ต้องดำเนินการในหน้าที่ของกรรมการนั้น หรือให้ “เอาใหม่” 
 17.6.7 บันทึกและรายงานต่อกรรมการผู้ชี้ขาดทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกติกาข้อ 16 และ 

     17.6.8 เสนอคำอุทธรณ์ที่ไม่พึงพอใจในปัญหาเกี่ยวกับกติกาต่อกรรมการผู้ชี้ขาด (คำอุทธรณ์ดังกล่าว จะต้องเสนอก่อนการส่งลูกครั้งต่อไป หรือเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงก่อนที่ฝ่ายอุทธรณ์จะเดินออกจากสนาม)


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : hilight.kapook.com/view/71895