การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย
ได้แก่
๑) สมัยอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมากจนทรงปลอมพระองค์มาชกมวยกับชาวบ้าน และชนะคู่ต่อสู้ถึง ๓ คน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นสามัญชน มาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์
เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยไทยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี หรือมีความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆ ก็เกิดจากการฝึกฝนกับพระสงฆ์ในวัดแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น
การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
๒) นักมวยที่มีฝีมือดีมีโอกาสเข้ารับราชการให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะการเป็นทหารในส่วนราชการที่เรียกว่า ทนายเลือก ซึ่งเป็นกรมที่ดูแลนักมวย ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์
๓) เมื่อครั้งที่นายขนมต้มถูกจับเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ ในการทำสงครามกับไทย และสุกี้พระนายกองได้คัดเลือกนายขนมต้มให้ขึ้นชกกับนักมวยพม่า นายขนมต้มสามารถชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง ๑๐ คน ดังที่ รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า "พม่าแพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว" แสดงให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ
การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
๔) ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก และอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย
สนามมวยราชดำเนิน
การพัฒนามวยไทยเป็นการกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว
หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๖ มวยไทยได้พัฒนามากขึ้นโดยมีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย และมีนักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียง คหบดีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เจ้าเชตุ ได้ตั้งสนามมวยในที่ดินของตนเอง เพื่อนำรายได้จากการชกมวยไปบำรุงกิจการทหาร ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแข่งขันชกมวยจึงหยุดไป หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง การแข่งขันชกมวยไทยได้เฟื่องฟูขึ้นอีก เพราะประชาชนสนใจ
สนามมวยลุมพินี
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้มีการจัดตั้งสนามมวยราชดำเนินขึ้น และจัดการแข่งขันชกมวยอาชีพเป็นจำนวนมาก มีนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น สุข ปราสาทหินพิมาย ผล พระประแดง สมาน ดิลกวิลาศ ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ เป็งสูน เทียมกำแหง สุริยา ลูกทุ่ง การชกมวยในระยะนั้น มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการชกมวยข้ามรุ่นกันได้
ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดแข่งขันชกมวย
วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ สนามมวยลุมพินีได้เปิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นักมวยส่วนใหญ่จึงได้ใช้ทั้งเวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินีในการแข่งขันชกมวย โดยทั้งสองสนามนี้ถือว่า เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย มีการจัดแบ่งประเภทนักมวยเป็นรุ่นต่างๆ ตามน้ำหนักตัวที่กำหนดขึ้น เกิดกติกามวยไทยอาชีพ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๐ ของกรมพลศึกษา และในวันเสาร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีการถ่ายทอดการชกมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนินเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกมวยไทย และมีการจัดแข่งขันชกมวยกับนักมวยไทยอยู่เสมอๆ
วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดสอนสาขามวยไทยในระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก
ต่อมากีฬามวยไทยมีการพัฒนาจนก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้การชกมวยไทยต้องมีเครื่องป้องกันอันตราย เพื่อให้นักมวยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในแต่ละปี และมีการถ่ายทอดการชกมวยทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจมวยขยายตัวออกไปกว้างขวาง ในต่างจังหวัดมีเวทีมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักมวยที่มีฝีมือจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การชกมวยไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเพื่อผลแพ้ชนะและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ศิลปะและแก่นแท้ของมวยไทย นับวันจะเลือนหายไป ถึงแม้จะมีหลักสูตรการเรียนกันในบางสถาบันการศึกษาก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนมวยไทยในระดับบัณฑิตศึกษา คือ วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี เริ่มเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขามวยไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ และต่อมาพัฒนาเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาเอกชื่อว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขามวยไทยศึกษา (ปัจจุบันมีการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต) มวยไทยจึงเริ่มพัฒนาเข้าสู่วิชาการเรียนการสอน เพื่อการอนุรักษ์ และแสวงหาคุณค่าทางภูมิปัญญาไทยมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน โดยมีคณาจารย์ประจำหลักสูตร เช่น ดร. ศักดิ์ชัย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมสภามวยไทยสมัครเล่นโลก ดร. แสวง วิทยพิทักษ์ กรรมการเทคนิคผู้ตัดสินมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนิน รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร แสงชัย เจ้าตำรับครูมวยพระยาพิชัยดาบหัก รวมไปถึง รองศาสตราจารย์ชัยสวัสดิ์ เทียนวิบูลย์ ครูมวยสยามยุทธ์ นอกจากนี้ยังมี รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี พงศ์พิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาไทย มาช่วยกันสร้างสรรค์จรรโลง ให้องค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีมานานนับสองพันปีอยู่ยั่งยืนตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น