ประวัติของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย | ||
กีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่เชื่อว่ามีการเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 โดยมีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 16 ในรูปแบบของ อิงลิช บิลเลียด (English Billiards) เป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากกีฬาบิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นกันสำหรับสองคน จึงได้มีการคิดค้นกีฬาพูล (Life Pool และ Pyramid Pool) ขึ้นมาเพื่อจะได้เพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้น และนำมาประยุกต์กลายเป็นกีฬาสนุกเกอร์ไปในที่สุด
กีฬาสนุกเกอร์ เป็นกีฬาที่คนไทยนิยมเล่นกันมาช้านาน และจากการที่เป็นกีฬาที่ชี้ผลแพ้-ชนะได้ จึงมีการเล่นพนันขันต่อ และจากเหตุที่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทยโดยกรมตำรวจจึงจัดเอาบิลเลียด-สนุกเกอร์ไว้ในพระราชบัญญัติการพนันประเภท ข. ตั้งแต่ปี 2478 และเป็นกฏหมายที่ใช้ควบคุมมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สมาคมพ่อค้าไทย มีวิเชียร แสงทอง หรือ เซียน กิ๊ด นครสวรรค์เป็นแชมป์ประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2513 จากนั้นสนุกเกอร์ก็เงียบหายไปจนถึงปี พ.ศ. 2525 โดยชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานจนถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สอง ชื่อ นายมอริส เคอร์ อดีตกรรมการบริหารราชกรีฑาสโมสร ได้รื้อฟื้นให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง
ภายในบริเวณราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) การแข่งขันในปีแรก มีผู้ลงสมัครแข่งขันไม่ถึง 20 คน ปรากฏว่า มีเซียนรุ่นเก่าหันมาสวมเวสต์ เสื้อแขนยาวลงแข่งขันแบบ 15 ลูก ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้ในปีแรกก็ยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากนักกีฬาไม่คุ้นต่อกฏกติกานั่นเอง
และในปี พ.ศ. 2525 นั้นเอง สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยนายมอริส เคอร์ มีคณะกรรมการบริหารรุ่นบุกเบิกเพียง 7 คน ประกอบด้วย นายมอริส เคอร์ นายโอภาส เลิศพฤกษ์ นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ นายศักดา รัตนสุบรรณ พล.ต.ต.ณรงค์ เหรียญทอง และนายเถกิง สวาสดิพันธุ์
เมื่อมีคณะกรรมการบริหารชุดแรกแล้ว สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยก็ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ มีการชักชวนประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนเข้ามาเป็นสมาชิก แล้วให้มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียนขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นปีต่อมา ที่ประเทศสิงคโปร์ มีประเทศสมาชิกร่วมแข่งขัน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ บรูไน ปรากฏว่า นักสนุกเกอร์จากไทยเข้าชิงชนะเลิศกันเอง โดยวิเชียร แสงทอง หรือ เซียนกิ๊ด นครสวรรค์ เอาชนะ ตา ตันยุติธรรมไปได้ และทำเบรคสูงสุดถึง 143 คะแนน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 นายมอริส เคอร์ ก็ได้ก่อตั้งสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเซียขึ้นมา มีประทศสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ได้แก่ประเทศไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน คูเวต และซาอุดิอารเบีย โดยมีนายมอริส เคอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเซียเป็นคนแรก กำหนดให้มีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงชนะเลิศแห่งเอเซียอย่างต่อเนื่อง และได้มีการรวมกีฬาบิลเลียด พูล แครอมเข้าไปเป็นกีฬาบิลเลียด และเปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเซีย มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทยได้มีการก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการแล้ว
สมาคมฯได้มีความพยายามในการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศ จนกระทั่งได้เพชรเม็ดงามคือ นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งทำให้ชาวโลกรู้จักประเทศไทยดีขึ้น เพราะต๋องสามารถครองแชมป์เอเซียได้ถึง 2 ครั้งในสมัยนั้น โดยครั้งแรกทำได้เมื่ออายุเพียง 14 ปี และยังสามารถคว้าแชมป์สมัครเล่นโลก ในปี พ.ศ. 2531 โดยเอาชนะ แบรี่ พินช์เชส นักกีฬาต้นตำรับและแชมป์สมัครเล่นจากอังกฤษก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นอันดับสามของโลก โดยเป็นรองเพียงสตีเฟ่น เฮนดรี้ และ สตีฟ เดวิส เท่านั้น
เป็นที่น่าเสียดายว่า คุณมอริส เคอร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมได้มาด่วนจากไปเสียก่อนในปี พ.ศ.2531 จึงไม่มีโอกาสได้เห็น ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นแชมป์สมัครเล่นโลกสมดังความปรารถนา แต่อย่างไรก็ตาม คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ผู้รับช่วงบริหารสมาคมฯต่อมา ก็ได้เดินหน้าพัฒนาบริหารสมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน
หลังจากที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย คว้าแชมป์สมัครเล่นโลกคนแรกได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ในปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยก็ได้แชมป์สมัครเล่นโลกคนที่สอง โดยนพดล นภจร หรือ หนู ดาวดีงส์ สามารถเอาชนะ โดนินิค เดล คู่แข่งจากเวลส์ได้ ที่โรงแรมแม่น้ำ กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้ชมทั้งในห้องแข่งขัน และที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ
สองปีต่อมา ประเทศไทยก็แสดงผลงานสู่วงการสนุกเกอร์โลกอีกครั้ง เมื่อชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ หรือ ต่าย พิจิตร เข้าชิงชนะเลิศกันเองกับ ประพฤติ ชัยธนสกุล หรือ รมย์ สุรินทร์ ในการชิงแชมป์สมัครเล่นโลกที่การาจี ประเทศปากีสถาน และเอาชนะไปได้ 11 - 6 เฟรม คว้าแชมป์โลกคนที่สามให้ประเทศไทยไปได้สำเร็จ
ผลงานในเวทีโลกของนักสนุกเกอร์ไทย ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น นักกีฬาไทยยังมีผลงานคว้าแชมป์เอเซีย และแชมป์โลกสมัครเล่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแชมป์โลกแล้วในเวลานี้ถึง 7 คน ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์ชัย ซิมงาม ในปี พ.ศ. 2538, อรรถสิทธิ์ มหิทธิ ในปี พ.ศ. 2550 โดยชิงชนะเลิศกันเองกับ ภาสกร สุวรรณวัฒน์, เทพไชยา อุ่นหนู ในปี พ.ศ. 2551 และ เดชาวัต พุ่มแจ้ง ในปี พ.ศ. 2554
ในสายเยาวชน นักกีฬาไทยก็สามารถคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ถึง 2 ครั้ง โดย นพพล แสงคำ ทำได้เป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอิหร่าน และในปี 2554 ก็สามารถเข้าชิงชนะเลศได้อีกครั้ง แต่ไปแพ้นักกีฬาไทย เพื่อนร่วมชาติ ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ ในรอบชิงชนะเลิศที่แคนาดา ทำให้ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์ได้เป็นแชมป์เยาวชนโลกของไทยคนที่สอง ได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ฤดูกาลนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังได้มีการผลักดันให้มีการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์นักเรียน ชิงแชมป์ประเทศไทย โดยร่วมมือกับกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์นักเรียนชิงแชมป์ภาคจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วมาแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย เพื่อให้สนุกเกอร์มีการพัฒนาให้หัดเล่นตั้งแต่ระดับเยาวชนอย่างถูกวิธี
กีฬาสนุกเกอร์ในเอเซีย ภายใต้การบริหารของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ ยังได้ผลักดันให้มีการบรรจุกีฬาสนุกเกอร์ ในการแข่งขัน Multi Sports เป็นครั้งแรก ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2541 โดยมีการชิงชัยกันถึง 10 เหรียญทอง ทั้งสนุกเกอร์ บิลเลียด พูล และแครอม และได้มีการบรรจุการแข่งขันกีฬาบิลเลียดในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อย่างต่อเนื่องทุกครั้ง มาจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งล่าสุด ที่กรุงกวางเจา ประเทศจีน
ไม่เพียงแต่ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์เท่านั้น ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, อีสต์ เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ หรือ การแข่งขัน เวิลด์ เกมส์ ก็ได้มีการบรรจุกีฬาบิลเลียดลงในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาทั้งหมด ภายใต้การผลักดันของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ ในฐานะประธานสหพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเซีย
และเนื่องด้วยกีฬาสนุกเกอร์ เป็นเพียงหนึ่งในกีฬาคิวสปอร์ต ซึ่งมีทั้ง อิงลิช บิลเลียด พูล และแครอม สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อสมาคมฯ เป็น สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 25..
ในปีพ.ศ. 2550 สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ได้มีการนำกีฬาสนุกเกอร์ 6 แดงบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมาเป็นครั้งแรก และทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง แพร่กระจายไปสู่ความนิยมทั้งในเอเซีย และทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ได้มีการจัดการแข่งขัน แสงโสม 6 แดง อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยเชิญนักกีฬาอาชีพของสนุกเกอร์โลกมาร่วมแข่งขัน พร้อมกับนักสนุกเกอร์ต่าง ๆ จากทั่วโลกขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มีการจัดการแข่งขันในปีต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยว่างเว้นไปเพียงปีเดียว ในปี 2554 ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีม ในรายการ World Cup แทน ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ 6 แดง เป็นที่นิยมไปอย่างแพร่หลาย ได้มีการจัดการแข่งขัน 6 แดงชิงแชมป์เอเซีย ชิงแชมป์ภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเอาผู้ชนะมาแข่งขัน แสงโสม 6 แดงชิงแชมป์โลก ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจมาร์เกตติ้ง จำกัด อย่างต่อเนื่องด้วย
สรุปแล้ว พัฒนาการของวงการสนุกเกอร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารของนายสินธุ พูนศิริวงศ์ และคณะกรรมการบริหารฯ ทุกท่านที่ร่วมแรง ร่วมกำลัง ร่วมความคิด ในการนำกีฬาบิลเลียดและนักกีฬาของไทยเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความสำเร็จส่วนต่อไปที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย กำลังพยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้คือให้กีฬาสนุกเกอร์หลุดจากพระราชบัญญัติการพนัน ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ขัดต่อระบบการดำเนินการ การพัฒนาเยาวชน และไม่สอดคล้องกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทยระบุไว้อย่างชัดเจนให้สนุกเกอร์และบิลเลียดเป็น 1 ใน 40 ชนิดกีฬาที่การกีฬาแห่งประเทศไทยให้การรับรอง โดยออกเป็นพระราชบัญญัติไว้ในปี พ.ศ. 2538 และเป็น 1 ใน 12 กีฬาอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยอีกด้วย ส่วนการที่กีฬาสนุกเกอร์จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้หรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องช่วยกันป้องกันและทำให้กีฬาเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับ และผู้ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ก็คือผู้บริหารสโมสรโต๊ะสนุกเกอร์ต่าง ๆ ผู้เล่น ตลอดจนผู้ฝึกสอน หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า สนุกเกอร์จะเป็นกีฬาที่ทุกฝ่ายยอมรับโดยทั่วกัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ: thailandsnooker
|
วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
ประวัติบิลเลียด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น