คริกเกต (Cricket) ของคนอินเดีย
ในอินเดีย คริกเกตถือเป็นกีฬายอดนิยมสูงสุด จนมีคนนำมาเปรียบว่า สำหรับคนอินเดีย คริกเกตเป็นเสมือนดั่งศาสนา เพราะอยู่ในวิถีชีวิตของคนทุกคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ทั้งคนรวยและคนจนต่างคลั่งไคล้คริกเกต
คริกเกต (Cricket) แม้จะเป็นกีฬาที่อังกฤษนำเข้ามาในประเทศอาณานิคม แต่กีฬาชนิดนี้ก็พัฒนาและกลายเป็นความนิยมในประเทศเครือจักรภพของอังกฤษอย่างอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ปัจจุบันคนอินเดียชื่นชอบคริกเกตกันอย่างมาก ชนิดที่อาจเรียกได้ว่าคลั่งไคล้กันทั้งประเทศ และยังติดตามชมการถ่ายทอดสดกีฬาคริกเกตแทบจะทุกนัดมากกว่ากีฬาอื่นๆ
เหตุที่คริกเกตเป็นกีฬายอดนิยมของอินเดีย อาจเป็นเพราะการให้ความสำคัญกับผู้เล่นแต่ละคน ดั่งวีรบุรุษและเงินรางวัลก็สูง เนื่องจากมีผู้สนับสนุนเข้ามาลงทุนให้อย่างมหาศาล เนื่องจากจะได้ลูกค้าเป็นจำนวนมากจึง ทำให้นักกีฬาคริกเกตได้รับค่าตัวแพงที่สุดในบรรดานักกีฬาทั้งหลายของอินเดีย และแม้แต่ดาราดังอย่าง ชาห์รุก ข่าน (Shahrukh Khan) ก็ยังหันมาตั้งทีมคริกเกตของตนเอง
คริกเกตอาจเรียกได้ว่าเป็นกีฬาประจำชาติของอินเดีย เพราะอินเดียมีทีมคริกเกตที่แข็งแรงและมีชื่อเสียง และแม้ว่าคริกเกตจะแข่งขันเป็นทีม แต่ก็เป็นกีฬาที่เล่นได้ทีละคน ดังนั้นแต่ละคนจึงเป็นที่คาดหวังสูง รวมทั้งถูกกดดันจากผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้านมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นนัดการแข่งขันระหว่างประเทศก็จะถือเป็นนัดสำคัญที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะศักดิ์ศรีของประเทศสำคัญมาก
คริกเกต เป็นกีฬาที่ใช้ผู้เล่นทีมละ 11 คน ทุกคนในทีมจะลงมารอแข่งขันในสนามทั้งหมด โดยการแข่งขันนั้นหากแบ่งเป็นทีม ก และทีม ข ทีม ข ก็จะจัด Blower หรือ ผู้ขว้างลูก มาขว้างลูกไปยังไม้ที่ตั้งไว้บนสนามสามอัน ไม้เหล่านั้นเขาเรียกกันว่า Wickets ซึ่งทีม ข จะต้องส่ง Batsman หรือคนรักษา Wickets ซึ่งเป็นผู้ถือไม้ Bat มาเฝ้าที่ไม้ดังกล่าว ถ้า Batsman ตีลูกถูก ก็จะวิ่งวนเพื่อให้ได้คะแนน เรียกว่า Runs จนกว่า Fielders ของทีม ก ซึ่งก็คือ พวกที่คอยทำหน้าที่วิ่งเก็บลูก นำกลับเข้ามาในสนาม เพื่อหยุดการวิ่งเก็บคะแนนของฝ่ายตรงข้าม ดูแล้วก็คล้ายๆ กับกีฬาเบสบอลแต่คริกเกตและเบสบอลจะมีข้อแตกต่างตามรายละเอียด ดังนี้
สนาม : คริกเกตจะเล่นในสนามรูปวงรี และมีความยาว 22 หลา ในขณะที่เบสบอลจะเล่นในสนามรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และมีความยาว 90 ฟุต
จำนวนผู้เล่น : ทีมคริกเก็ตหนึ่งทีมจะมีผู้เล่น 11 คน ในขณะที่ทีมเบสบอลหนึ่งทีมจะมีเพียง 9 คน
การทำแต้ม : ในคริกเกต Batsman หรือ ผู้ตีลูกต้องวิ่งไปกลับในสนามจากจุด ที่วางไม้ที่เรียกว่า Wickets ในขณะที่ Batsman หรือ ผู้ตีลูกในกีฬาเบสบอล จะต้องวิ่งรอบจุดสี่จุดตามสนามรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และถ้าวิ่งได้ครบทุกจุดในคราวเดียวกันก็จะเรียกว่า Home-run นั่นเอง
โดยทั่วไปเราจะเห็นคนอินเดียทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล่นเกมขว้างและตีลูกนี้ ทั่วทุกหนแห่งที่มีพื้นที่ว่าง คริกเกตแพร่หลายในอินเดียอย่างมาก เมื่อคนนิยมมาก รูปแบบของกีฬาก็พัฒนาไปตามความนิยม โดยในขณะนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบการแข่งขันให้สั้นลง จากที่เคยแข่งขันกันหลายวัน (4-5 วัน) ซึ่งเรียกว่า “Test Match” เหลือเพียง 1 วัน ซึ่งเรียกว่า “One Day International” อีกทั้งยังกำหนดจำนวนขว้าง (over) ในคริกเก็ตประเภทอาชีพหรือที่เรียกว่า “Indian Premier League (IPL)” ให้เหลือทีมละไม่เกิน 20 ไม้ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วตั้งแต่คนจนสุดจนถึงคนรวยสุด ในการแข่งขันแต่ละครั้งมีคนเข้าไปชมระหว่าง 5-8 หมื่นคน และได้กลายเป็นกีฬาธุรกิจและกีฬาแห่งความบันเทิงประจำชาติ เนื่องจากมีมูลค่าของกีฬานี้นับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เมื่อมีการแข่งขันคริกเกตทีมชาตินัดสำคัญ คนอินเดียทั้งประเทศก็จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว และในระหว่างการแข่งขัน ข้อขัดแย้งของคนอินเดียในรัฐต่างๆจะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อมีผู้เล่นจากรัฐต่างๆมาเล่นรวมกันในทีมชาติ คนอินเดียทุกคนก็จะสนับสนุนผู้เล่นทุกคนเหมือนกัน โดยไม่นึกถึงว่าผู้เล่นคนนั้นๆ จะมาจากรัฐใดก็ตาม
กีฬานี้เป็นความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของชาวอินเดีย เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความยอดเยี่ยมและชั้นเชิงที่พวกเขามีไม่แพ้ชาติตะวันตก ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือ แคนาดา ดังจะเห็นจากได้จากการแข่งขันคริกเกตชิงแชมป์โลกในแต่ละครั้ง อินเดีย รวมทั้งประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียใต้ จะคาดหวังตำแหน่งแชมป์โลก
กีฬาคริกเกตสร้างผลงานที่ดีในด้านการกระชับความสัมพันธ์ของคนต่างศาสนา ต่างชนชั้นและวรรณะของคนทุกหมู่เหล่าในสังคมอินเดีย เมื่อใดก็ตามที่มีการจัดการแข่งขันคริกเกต สื่อต่างๆ และนักการเมืองก็จะใช้คริกเกตเป็นตัวช่วยในการสร้างคะแนนนิยม เพราะคริกเกตถือเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในตัวของคนอินเดียทุกคน
นอกจากนี้ กีฬาคริกเกตยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเจริญสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้อีกด้วย ดังเช่น เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2548 พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ (General Pervez Musharraf) ประธานาธิบดี ปากีสถานได้ร่วมเข้าชมการแข่งขันคริกเกตระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ณ สนามกีฬา Feroz Shah Katla กรุงนิวเดลี ข้างนายมันโมฮัน สิงห์ (Monmohan Singh) นายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยภายหลังการแข่งขันสิ้นสุดลง ผู้นำจากทั้งสองประเทศก็ได้หารือเรื่องการยุติความรุนแรงระหว่างอินเดียและปากีสถาน นับเป็นการใช้กีฬาในการเจรจาสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ
เรื่องราวของคริกเกตในอินเดียเปรียบเสมือนเรื่องราวของสังคมอินเดีย โดยมีคำกล่าวว่า คริกเกตเป็นอีกศาสนาหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ต่างกันแต่เพียงว่า “ศาสนาคริกเกต” นั้นไม่มีการแบ่งแยกนิกายและชนชั้น ทุกคนมีความเท่าเทียมเบื้องหน้าการแข่งขัน และนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งความเหลือเชื่อ Incredible India อย่างแท้จริง
ขอบคุณข้อมูลดีๆ : hsameaf.mfa.go.th/th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น